โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ของร่างกายต่อสารก่อโรค โรคหืดพบได้ประมาณร้อยละ 7 ของประชากรในประเทศไทย

ผู้ป่วยจะมีประวัติอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ หายใจเสียงหวีด หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกและอาการไอ อาการจะแย่ลงช่วงกลางคืนหรือรุ่งเช้า โดยอาการผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ ในด้านเวลาการดำเนินโรคและระดับความรุนแรง ร่วมกับการตรวจพบการแปรปรวนของการอุดกั้นหลอดลมในช่วงขาออก และอาการอาจกำเริบหรือกลับเป็นซ้ำๆได้ โดยปัจจัยหรือสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคได้แก่สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง(สุนัข แมว) เกสรหญ้า สารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น น้ำหอม กลิ่น สี น้ำยาหรือสารเคมี ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบน การหัวเราะ และอารมณ์เครียด เป็นต้น โรคหืดมีลักษณะหลอดลมไวเกินต่อสารภูมิแพ้ หรือสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมอย่างต่อเนื่องแม้ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาจมีผลตรวจสมรรถภาพปอดที่ปกติได้ และสามารถกลับมาควบคุมอาการให้ปกติได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม อาการของโรคหืดและการอุดกั้นของหลอดลมอาจหายเองได้หรือหายภายหลังให้ยารักษา และไม่มีอาการอีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ผู้ป่วยบางรายมีอาการหืดกำเริบเฉิยบพลันรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้และมีผลกระทบต่อผู้ป่วยและสังคม
การวินิจฉัยโรคหืด ประกอบด้วย 1. อาการที่เข้าได้กับโรคหืด 2. การตรวจสมรรถภาพปอดพบการแปรปรวนของการอุดกั้นหลอดลมในช่วงขาออก (variable expiratory airflow limitation)
แนวทางการรักษาประกอบด้วย
1. การรักษาโดยใช้ยา ซึ่งได้แก่ ยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการและยาเพื่อควบคุมอาการซึ่งเป็นยาขยายหลอดลมแบบยาพ่น ยาสูด หรือยากินโดยต้องใช้ยาให้ถูกวิธีตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เนื่องจากการใช้ยาที่ไม่สม่ำเสมอส่งผลทำให้การควบคุมโรคไม่ดี และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามอาการ
2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ประกอบด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง สิ่งกระตุ้นต่างๆ และมลภาวะที่อาจก่อให้เกิดการกำเริบของโรคหืดหรือกระทบต่อการควบคุมโรคหืด ได้แก่
2.1 การเลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง
2.2 การออกกำลังกาย (exercise training) ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ว่ายน้ำ วิ่งลู่ ปั่นจักรยาน หรือไทชิ ชี่กง ซึ่งมีหลักฐานว่าช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคหืดได้ดีขึ้น ความสามารถในการออกกำลังกายสูงสุดและความทนทานในการออกกำลังกายดีขึ้น สมรรถภาพปอดดีขึ้น อาการหอบเหนื่อยลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น การพึ่งพาบริการสาธารณสุข เช่น การรักษาหืดกำเริบ การใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและการมาห้องฉุกเฉิน โดยแนะนำให้ทำโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืดรุนแรงและควบคุมยากควรได้รับ การออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างน้อย 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที ต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป
2.3 การฝึกหายใจ อาศัยหลักการ ได้แก่ การลดอัตราการหายใจ การลดปริมาตรของการหายใจแต่ละครั้ง เพิ่มการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อด้านข้างทรวงอก ใช้จมูกในการหายใจ ผ่อนคลาย จากการศึกษาพบว่า สามารถลดอาการหอบเหนื่อย ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลายจากความเครียดทางอารมณ์ได้อีกด้วย
2.4 การควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยแนะนำให้ปรับและควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่ทำงานเพื่อลดปัจจัยกระตุ้นของโรคหืด เช่น จัดระบบถ่ายเทอากาศที่ดี จัดให้มีแสงแดดส่องได้อย่างทั่งถึง หลีกเลี่ยงการใช้พรมหรือนุ่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลง หลีกเลี่ยงควันธูป และจำกัดบริเวณของสัตว์เลี้ยงไว้ภายนอกบ้าน เป็นต้น
2.5 การลดน้ำหนัก หากสามารถลดน้ำหนักลงได้เกินร้อยละ 10 จากเดิม จะช่วยให้ควบคุมโรคหืดได้ดีขึ้น และสมรรถภาพปอดดีขึ้น
2.6 การฉีดวัคซีน โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง (โดยเฉพาะกลุ่มโรคหืดรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก)
2.7 ลดความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ จากการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคหืดสูงกว่าในคนทั่งไป ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมโรคหืด ผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำและดูและสุขภาพทางจิตใจให้เหมาะสม
ผู้ป่วยควรติดตามการดำเนินโรคด้วยตัวเอง และฝึกสังเกตอาการโดยมีแผนการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อควบคุมอาการของโรคหืดดังภาพ

ตัวอย่างแผนการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อควบคุมอาการของโรคหืด (action paln)
แพทย์หญิงพิชญา เพชรบร